วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การกำเนิดของคำว่า แซ่

ในสมัยโบราณนั้นแซ่ตระกูลมีที่มาแตกต่างกัน แซ่เป็นอย่างหนึ่ง ตระกูลก็เป็นอย่างหนึ่ง แซ่ ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “ซิ่ง” ตามรากศัพท์หมายถึง เผ่าพันธุ์ที่มีสตรีเป็นหัวหน้าหรือผู้ให้กำเนิด ตระกูลในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “ซื่อ” ตามรากศัพท์หมายถึงฐานะของผู้ชายที่เป็นนักรบ ในความหมายเดิมๆ แซ่จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นคนอยู่เผ่าใด ส่วนตระกูลเป็นเครื่องแสดงฐานะของบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ซื่อหรือตระกูลเป็นสิ่งแยกวรรณะ ส่วนแซ่หรือซิ่งนั้น
เป็นสิ่งแสดงสถานภาพการสมรสของฝ่ายหญิง

แซ่ในยุคโบราณจึงมักมีรูปอักษรที่มีคำว่า “หนี่” หมายถึงผู้หญิง กำกับอยู่ด้วยเสมอ ส่วนซื่อหรือตระกูลนั้นมีใช้กันไม่แพร่หลายมากนัก จำกัดอยู่เฉพาะ ชนชั้น ผู้ดีมีฐานะทางสังคม อย่างเช่นหวงตี้ที่ถือกันว่าเป็นพระเข้าแผ่นดินองค์แรกของคนจีนทั้งมวล มาจากตระกูลกงซุน หมายความว่าเป็นหลานของกง ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางระดับชั้นสมเด็จเจ้าพระยา หรือ Duke ของอังกฤษ

สำหรับราษฎรธรรมดานั้นแต่เดิมไม่มีแซ่ตระกูล มีเพียงชื่อตัวที่เรียกว่า หมิง เท่านั้น ต่อเมื่อสังคมบ้านเมืองจีนขยายใหญ่โตมากขึ้นพร้อมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปขุนนางศึกและชนชั้นเจ้าที่ดินทั้งหลาย ซึ่งมีอาณาเขตปกครองที่ดินทั้งหลายซึ่งมีอาณาเขต ปกครองที่ดินถือครองเพิ่มมากขึ้น จำต้องอาศัยประชาชนทั่วไปเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาที่ดินตลอดจนการรบทัพจับศึก ดังนั้นจึ้งต้องหาสมัครพรรคพวก ด้วยการเอาอกเอาใจคนในปกครองให้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น สัญชาตญาณของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับตนเอง คนที่เป็นทาสหรือเป็นคนสามัญ ก็อยากให้ตนเองมีฐานะทางสังคมขึ้นมาบ้าง พวกเจ้านายทั้งหลายที่มีสติปัญญาความรู้ ย่อมเล็งเห็นความจริงในข้อนี้ จึงยินยอมให้คนในปกครองเกิดความรู้สึก
จงรักภักดี ต่อตนเองด้วยการให้มาร่วมใช้แซ่ตระกูลของตน หรือคิดตั้งแซ่ตระกูลต่าง ๆ ให้ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับแซ่ตระกูลของคนที่เป็นเจ้านาย

ดังนั้น ในยุคจั้งกว๋อหรือยุครณรัฐ อันเป็นสมัยที่วอร์ลอร์ดทั้งหลาย ต่างแสวงหาอำนาจอิทธพลกันอย่างกว้างขวาง จึงมีการประทานแซ่ตระกูล ให้แก่คนทั่วไปนับแตันั้นมาการใช้แซ่ตระกูลของจีน ก็เป็นไปอย่างแพร่หลาย เพิ่มเติมจากแซ่เดิมแต่โบราณ ที่มีอยู่ไม่กี่แซ่

ตามตำนานโบราณบันทึกว่า หวงตี้หรือพระเจ้าเหลืองมีโอรสทั้งหมดยี่สิบห้าองค์ เกิดจากมเหสีสิบสององค์ โอรสทั้งหลายต่างใช้แซ่ของมารดาตนเอง จึงมีแซ่ที่สืบเชื้อสายมาจากหวงตี้สิบสองแซ่ บางตำนานว่าสิบสี่แซ่ ยังมีตำนานบางเล่มกล่าวว่า หวงตี้ได้พระราชทานแซ่แก่ขุนนาง ที่มีความดีความชอบให้ออกไปกินเมืองต่างๆ ขุนนางนั้นเลยใช้แซ่พระราชทานเป็นชื่อเมือง คนที่อยู่เมืองนั้นต่อมาก็ใช้ชื่อเมืองเป็นแซ่ของตน

ในพระราชประวัติของพระเจ้าฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) จักรพรรดิปฐาราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเคยเป็นสามัญชนมาก่อน ครั้นพระองค์ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้แล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้ประชาชนทุกคนมีแซ่ตระกูลประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ขุนนางหรือไพร่ และจากยุคนี้เองที่แซ่ตระกูลได้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยรวมเรียกว่าแซ่ และให้ถือตามแซ่ของบิดาอย่างเป็นทางการ จากการที่มีการใช้แซ่กันอย่างกว้างขวาง ไม่เลือกคนมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรือประชาชนคนสามัญทั่วไป จึงทำให้เกิดความนิยมขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ การสืบเสาะหาความเป็นมาของแซ่ตระกูล

ยุคราชวงศ์ฮั่นจึงได้มีนักศึกษาประวัติศาสตร์สาขามานุษยวิทยาแขนงตระกูลวิทยา Anthroponomy เกิดขึ้นนักศึกษาเหล่านี้มีความสนใจค้นคว้า ถึงความเป็นมาของแซ่ตระกูลต่าง ทั้งการเริ่มต้นและการดับสูญ นับเป็นแขนงวิชาหนึ่ง ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษยได้ดีพอควร จากความมุ่งหมายเดิมที่ต้องการเพียงแต่สืบค้น ถึงที่มาของบรรพบุรุษในแซ่ตระกูลตนเอง กลายเป็นการสืบสาวโยงใยไปถึงบุคคลที่อยู่ในยุคเดียวกัน ความเกี่ยวพันกันทั้งในฐานะญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือศัตรู

ในปี ค.ศ.1990 เช่นกัน รัฐบาลจีนได้สำรวจแซ่ตระกูลจีนที่มีมาแต่โบราณถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามีแซ่ตระกูลทั้งหมดมากกว่า 8,000 แซ่ แต่มีบางแซ่ได้เลิกใช้กันไปแล้วที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้มีเพียง 5,007 แซ่ โดยสามารถแยกประเภทของการใช้แซ่ออกได้ตามลักษณะสำคัญดังนี้
1. การใช้แซ่ตามมารดาผู้ให้กำเนิด 2. การใช้แซ่ตามถิ่นเกิด
3. การใช้แซ่ตามเมืองที่ไปอยู่ 4. การใช้แซ่ตามอาชีพ
5. การใช้แซ่ตามฉายา 6. การใช้แซ่ตามตัวเลข
ูสิบอันดับแซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ได้แก่
1. จาง 2. หวาง 3. หลี่ 4. จ้าว 5. หลิว 6. เฉิน 7. หยาง 8. หลิน 9. สวี 10.โจว
สิบแซ่นี้รวมกันแล้วมีประมาณ 250 ล้านคน เฉพาะแซ่จางแซ่เดียวก็กว่า 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว หรือมากเกือบเท่ากับคนอังกฤษและฝรั่งเศสสองประเทศรวมกัน

ยี่สิบอันดับแซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในสาธาณรัฐประชาชนจีนได้แก่
1. หลี่ 2. หวาง 3. จาง 4. หลิว 5. เฉิน 6. หยาง 7. จ้าว 8. หวง 9. โจว 10.หวู
11. สวี 12.ซุน 13.หู 14.จู 15.วัง 16.หลิน 17.เหอ 18.กวัว 19.ไช่ 20.หม่า
ยี่สิบแซ่นี้รวมกันแล้วประมาณ 56% ของคนจีนทั้งประเทศ หรือมากกว่า 600 ล้านคน อันดับหนึ่งถึงสี่คือ หลี่ หวาง จาง หลิว แต่ละแซ่มีมากกว่า 70 ล้านคน หรืออีกนัยหนึ่ง แต่ละแซ่ดังกล่าวนี้มีมากกว่าคนไทยทั้งประเทศ

ส่วนทางจีนไต้หวัน ซึ่งเป็นชุมนุมชาวจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้มีการสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับ การใช้แซ่ตระกูลจีนเช่นกัน ปรากฏว่ามีแซ่ที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน 6,363 แซ่ แต่แซ่ที่ใช้กันประจำมีเพียง 1,694 แซ่ แยกออกเป็นประเภทต่าง ดังนี้

แซ่อักษรเดียว 3730 แซ่
แซ่อักษรสองตัว 2,498 แซ่
แซ่อักษรสามตัว 127 แซ่
แซ่อักษรสี่ตัว 6 แซ่
แซ่อักษรห้าตัว 2 แซ่

ยี่สิบอันดับแซ่ที่มีผู้ใช้ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในได้หวันได้แก่
1. เฉิน 2. หลิน 3. หวง 4. จาง 5. หลี่ 6. หวู 7. หวาง 8. ไช่ 9. หลิว 10.หยาง
11.เคอ 12.เจี่ยน 13.ถาง 14.ตู้ 15.เหอ 16.หาน 17.เจิ้ง 18.ล่าย 19.ชิว 20.หง

ที่ไต้หวันนี้มีคำกล่าวว่าเฉินหลินหมั่นเทียนเซี่ย แปลว่า คนแซ่เฉินแซ่หลินมีเต็มแผ่นดิน คนแซ่เฉินมีประมาณ 12.29 % ของประชากรไต้หวัน ส่วนคนแซ่หลินมีประมาณ 8.5 % ทางด้านเกาหลีใต้ซึ่งมีประชากร 40 ล้าน มีคนแซ่จิน (กิม) มากถึง 9 ล้านคน รองลงมาเป็นคนแซ่หลี่ 6 ล้านคนและแซ่ปัก 3.5 ล้านคนนอกจากคนจีนนิยมใช้แซ่เป็นเครื่องกำหนดสายพันธุ์ของตระกูลแล้ว ประเทศญี่ปุ่นที่รับเอาวัฒนธรรมจีนไปใช้ ก็ใช้แซ่ตระกูลอย่างชาวจีนด้วย และน่าสังเกตุว่า แม้คนญี่ปุ่นจะมีจำนวนน้อยกว่างจีนถึงสิบเท่า แต่กลับมีแซ่ตระกูลมากกว่าคนจีนเสียอีก ญี่ปุ่นมีแซ่ตระกูลมากกว่า 120,000 แซ่ ส่วนประเทศไทยนั้น เมื่อต้นปี 2535 รายการเมืองไทยก้าวไกล ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 ได้นำเสนอเรื่องราวของสิบอันดับแซ่ตระกูลจีนที่มีผู้ใช้มากที่สุดในเมืองไทย ปรากฏว่ามีผู้ชมสนใจรายการนี้มากถึงขนาดต้องเพิ่มการออกอากาศเฉพาะเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษถึงสองตอน

สิบอันดับแซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในไทยได้แก่
1. ตั้ง (เฉิน) 84,829 คน 2.ลิ้ม (หลิน) 74,719 คน
3.ลี้ (หลี่) 49,291 คน 4.อึ้ง (หวง) 44,485 คน
5. โง้ว (หวู) 33,533 คน 6.โค้ว (สวี่) 31656 คน
7.เตียว (จาง) 31,246 คน 8.แต้ (เจิ้ง) 25,922 คน
9.เล้า (หลิว) 25,346 คน 10.เฮ้ง (หวาง) 17,821 คน

ถ้าเราค่อย ๆ นับไล่ย้อนหลังไปจากปัจจุบันที่มีแซ่ใช้ประจำ 5,007 แซ่ ในสมัยราชวงศ์หมิงมีเพียง 1,000 แซ่ สมัยราชวงศ์ซ่งมี 600 แซ่ สมัยราชวงศ์ถังมี 293 แซ่ สมัยราชวงศ์โจวมีเพียง 22 แซ่ กลับไปถึงสมัยหวงตี้มี 12 แซ่ แล้วถึงตัวหวงตี้เองมีเพียงเดียว อย่างนี้ย่อมนับได้ว่าคนจีนทุกคน ไม่ว่าปัจจุบันจะใช้แซ่อะไร ก็ตาม ล้วนแต่เป็นสายเลือดเดียวกันทั้งนั้น ถ้าเรายอมรับตามความคิดนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสงบสันติสุข ไม่อยากฆ่าฟันทำลายล้างกันอีกต่อไป ทั้งนี้ไม่จำกัดวงแคบเฉพาะในหมู่คนจีน หรือคนที่มีสายเลือดจีนเท่านั้น ถ้าเรามีน้ำใจเผื่อแผ่โดยถือว่าทุกคนที่เป็นมนุษย์ล้วนแต่มีแซ่เดียวกัน คือ แซ่ “ตน” โลกนี้ก็น่าจะอยู่กว่านี้อีก มากนัก

ปัจจุบันชาวโลกมีท่าทีเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น เพราะต่างตระหนักดีว่า การทำตัวเป็นศัตรูกันอย่างงมงาย ด้วยการถือเขาถือเราเป็นคนละเผ่ากันนั้น ย่อมเป็นความคิดที่ล้าหลังน่าหัวเราะ โลกนี้แคบลงทุกวันตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มพูนขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้มีมากมายกว่า 5,300 ล้านคน การที่คนจีนมีจำนวนถึงประมาณ 1,200 ล้านคนในประเทศ และอีกเกือบ 100 ล้านคนในประเทศอื่นทั่วโลก เทียบได้ว่าพลโลกทุกสี่คนจะเป็นคนจีนหนึ่งคนความเป็นมาของคนจีน จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้อยู่ไม่น้อย จนอาจกลาวได้ว่าการศึกษาความเป็นมาของคนจีนคือการศึกษาความเป็นมาของมวลมนุษย์ คำนี้คิดว่าคงไม่ใช่ คำกล่าวที่เกิดเลยความจริง เพราะชาติจีนเป็นชาติหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตตราบกระทั่งปัจจุบัน มีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดตอน เป็นชาติเดียวในโลก ที่มีคนในสายลือดกระจายไปอยู่ทุกทวีป เป็นชาติเดียวในโลกที่มีระบอบการปกครองที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาครบทุกรูปแบบ ครบเครื่องทั้งระบอบราชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเผด็จการ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ระบอบกึ่งอาณานิคม เสรีนิยม และอำนาจนิยม .

ไม่มีความคิดเห็น: